เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2560 ที่ผ่านมา ศ.นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และ นายสมชาย มนต์บุรีนนท์ รองผู้ว่าการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) ร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจโครงการสนับสนุนการวิจัย เรื่อง “การวิเคราะห์ความเสี่ยงคุณภาพน้ำประปาของการประปาส่วนภูมิภาค” ระหว่าง 2 หน่วยงาน ณ การประปาส่วนภูมิภาค กรุงเทพมหานคร เพื่อสร้างองค์ความรู้และเทคนิคในการประเมินความเสี่ยงของน้ำประปา ภายใต้สถานการณ์ทางธรรมชาติ โดยมี รศ.ดร.ประภาพร ขอไพบูลย์ ผู้อำนวยการฝ่ายเกษตร สกว. และ นายพิสิฐ หงส์วนิชย์กุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ กปภ. (แผนกยุทธศาสตร์) ร่วมเป็นพยานการลงนามในบันทึกดังกล่าว
โอกาสนี้ ศ.นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการ สกว. กล่าวว่า จากเหตุการณ์อุทกภัยครั้งใหญ่ในปี 2554 ที่ผ่านมา ส่งผลให้ประเทศไทยมีความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาด้านสาธารณสุขอันเกิดจากภาวะบกพร่องของสุขอนามัยเชิงประชากร และอาจส่งผลกระทบต่อการระบาดของโรคที่เกิดจากการบริโภคอาหารและน้ำที่มีการปนเปื้อนของจุลินทรีย์ก่อโรค สกว. และ การประปานครหลวง (กปน.) จึงสนับสนุนโครงการวิจัย “การประเมินความเสี่ยงทางจุลินทรีย์ของน้ำในพื้นที่ประสบอุทกภัยในเขตภาคกลางของประเทศไทย” โดยมี รศ.น.สพ. ดร.ศุภชัย เนื้อนวลสุวรรณ อาจารย์ประจำคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นหัวหน้าโครงการ เพื่อประเมินความเสี่ยงของน้ำในการอุปโภคบริโภคในเขตพื้นที่เสี่ยง และการเฝ้าระวังระดับการปนเปื้อนของจุลินทรีย์ก่อโรคในน้ำ ซึ่งนักวิจัยได้นำเสนอผลการดำเนินงานและข้อเสนอแนะต่อฝ่ายคุณภาพน้ำ กปน. ประกอบด้วย การบริหารจัดการในการเฝ้าระวังโรค การประเมินความเสี่ยงของน้ำเพื่อการอุปโภคและบริโภค การจัดการโรงกรองน้ำ และข้อมูลในการเตรียมการตั้งรับกับเหตุการณ์อุทกภัยที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดการขยายผลการพัฒนา และการใช้ประโยชน์จากงานวิจัย สกว. จึงร่วมกับ กปภ. ซึ่งมีหน้าที่ความรับผิดชอบสำคัญเช่นเดียวกับ กปน. ที่จะผลิตน้ำประปาคุณภาพแก่ประชาชนในพื้นที่ด้วยกระบวนการวิจัย 3 แนวทาง คือ การจัดการความเสี่ยง การประเมินความเสี่ยง และ การสื่อสารความเสี่ยง สำหรับความร่วมมือทางวิชาการในครั้งนี้จะเป็นการสนับสนุนการสร้างองค์ความรู้และเทคนิคในการประเมินความเสี่ยงและการจัดการความเสี่ยงเพื่อพัฒนาคุณภาพความปลอดภัยของน้ำประปาทางจุลชีววิทยาแก่ กปภ. รวมถึงสนับสนุนการเพิ่มศักยภาพบุคลากรให้มีความสามารถในการประเมินความเสี่ยงคุณภาพน้ำประปาทางจุลชีววิทยา เพื่อยกระดับความปลอดภัยน้ำประปาให้สอดคล้องกับคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกในเรื่อง “Water safety plans: Managing drinking-water quality from catchment to consumer” รวมทั้งเป็นข้อมูลสำหรับกระทรวงสาธารณสุขหรือหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในการจัดการความเสี่ยงหรือเฝ้าระวังการเจ็บป่วยของผู้บริโภค
ขณะที่ นายเสรี ศุภราทิตย์ ผู้ว่าการประปาส่วนภูมิภาค เปิดเผยว่า กปภ. มุ่งมั่นพัฒนาความรู้ความเชี่ยวชาญของบุคลากร อุปกรณ์ และมาตรฐานการปฏิบัติงานมาอย่างต่อเนื่อง จนในปี 2559 ห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ (Lab Cluster) 25 แห่งทั่วประเทศของ กปภ. ได้รับการรับรองระบบคุณภาพห้องปฏิบัติการ ISO/IEC 17025:2005 จากสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ซึ่งตอกย้ำมาตรฐานการทำงานและคุณภาพน้ำประปาของ กปภ. ว่าเชื่อถือได้ในระดับสากล กระทั้งล่าสุด ในปี 2560 นี้ กปภ. ร่วมกับ สกว. ดำเนินโครงการสนับสนุนการวิจัย เพื่อเสริมสร้างองค์ความรู้และเทคนิคการประเมินความเสี่ยง ตลอดจนการจัดการความเสี่ยงเพื่อพัฒนาคุณภาพความปลอดภัยของน้ำประปา โดย สกว. จะใช้การวิจัยเป็นกลไกสร้างฐานความรู้ พร้อมสนับสนุนด้านวิชาการและระบบการบริหารจัดการในการประเมินความเสี่ยง ควบคู่ไปกับการแลกเปลี่ยนทางวิชาการในด้านการวิจัยและพัฒนาการวิเคราะห์ความเสี่ยงร่วมกัน เพื่อฝึกฝนบุคลากรของ กปภ. ให้สามารถประเมินความเสี่ยงคุณภาพน้ำประปาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ผู้ว่าการ กปภ. กล่าวเพิ่มเติมว่า การขยายตัวของเมือง รวมถึงการพัฒนาด้านการท่องเที่ยว และอุตสาหกรรม อาจส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อคุณภาพน้ำดิบตามธรรมชาติ ทั้งยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการปนเปื้อนของสารเคมีหรือสิ่งปฏิกูลซึ่งอาจส่งผลต่อสุขอนามัยของประชาชน ทำให้ กปภ. ต้องตื่นตัวและปรับองค์กรให้ทันการเปลี่ยนแปลงของสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้และความเชี่ยวชาญ เพื่อรักษามาตรฐานการให้บริการน้ำประปาแก่ประชาชน ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญในการขับเคลื่อนระบบการผลิตจ่ายน้ำประปาที่มีคุณภาพยิ่งๆ ขึ้นไปของ กปภ.
ขอขอบพระคุณ
เนื้อหาจาก
งานสื่อสารสังคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
ชั้น 14 อาคารเอส เอ็ม ทาวเวอร์
979/17-21 ถนนพหลโยธิน แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพฯ 10400
ภาพจาก
Facebook การประปาส่วนภูมิภาค (PWA) สำนักงานใหญ่
==========================================================